วัดสุทัศนเทพวราราม เริ่มวางศิลาฤกษ์พระวิหารหลวงในปี พ.ศ. 2350 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สำเร็จเป็นพระอาราม และสมโภชใน พ.ศ. 2390 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมระยะเวลาในการก่อสร้าง 40 ปี ศิลปกรรมภายในวัดจึงเป็นศิลปกรรมของ 3 รัชกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยแบ่งศิลปกรรมตามกลุ่มของอาคารศาสนสถานเป็น 2 ส่วน คือ เขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส ในเขตพุทธาวาสยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เขตพระวิหารหลวง และเขตพระอุโบสถ แม้จะไม่มีกำแพงคั่นเพื่อแยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่กระนั้นก็ดี ยังมีการสร้างพระระเบียงล้อมรอบพระวิหารหลวงแยกออกจากส่วนอื่นต่างหาก
วัดสุทัศนเทพวราราม สามารถแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน มีการเรียงลำดับความสำคัญของสถานที่จากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ตามความสำคัญของผู้อยู่อาศัย โดยคณะใหญ่ 3 คณะอยู่ทางด้านทิศเหนือสุดของเขตสังฆาวาส เมื่อตำแหน่งเจ้าคณะของคณะใหญ่คณะใดคณะหนึ่งว่างลง เจ้าอาวาสจะแต่งตั้งโดยให้เลื่อนเจ้าคณะของคณะกลางหรือ คณะยาวทางด้านทิศใต้ขึ้นมาเป็นเจ้าคณะแทน แล้วแต่งตั้งเจ้าคณะแทนตำแหน่งเจ้าคณะที่ว่างนั้น การตกแต่งภายในของแต่ละคณะจะขึ้นอยู่กับเจ้าคณะนั้นๆ ผู้อยู่อาศัยย่อมสามารถจะทำได้ แต่ต้องรักษาสภาพภายนอกของแต่ละคณะไว้ ดังนั้น โครงสร้างและสภาพโดยรอบคณะแต่ละคณะจึงมีลักษณะเดียวกัน แต่การตกแต่งภายในอาจจะแตกต่างกันตามความเหมาะสมและความสามารถของผู้อยู่อาศัย
แผนผังของวัดสุทัศนเทพวรารามคงจะมีความสมบูรณ์ในสมัยสร้างวัดเสร็จ และประกอบพิธีฉลองวัด ก่อนจะได้รับการแก้ไขในกาลต่อๆ มา เช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้รื้อกุฏิบริเวณท้ายวัด (ด้านทิศใต้สุดของวัด ปัจจุบันเป็นตึกแถวอยู่บริเวณซอยสระสรงลงท่า) ซึ่งเป็นกุฏิวิปัสสนา (กุฏิวิปัสสนาตามหลักฐานมีอยู่ในพระอารามหลวง 3 แห่ง คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดสระเกศ โดยเป็นการจัดกุฏิพระสงฆ์ออกเป็น 2 ส่วนคือ กุฏิฝ่ายคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ปัจจุบันเหลือเพียงที่วัดสระเกศเท่านั้น) แล้วทรงให้สร้างตึกแถวแทน และในสมัยต่อมาเมื่อมีการตัดถนนตีทอง (ด้านทิศตะวันตกของวัด) และถนนอุณากรรณ (ด้านทิศตะวันออกของวัด) ก็มีการตัดถนนกิน พื้นที่เข้ามาในพื้นที่ของวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณถนนอุณากรรณ ทำให้ภูมิทัศน์รอบสัตตมหาสถานเปลี่ยนแปลงไป โดยก่อนหน้านั้น บริเวณสัตตมหาสถานเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญ ทางพระพุทธศาสนา ก่อนจะยกเลิกแล้วเปลี่ยนสถานที่ไปใช้พระวิหารหลวงเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีเวียนเทียนแทนจนถึงปัจจุบัน (พระครูวิจิตรการโกศล (สงัด), 2516, น. 88) แผนผังวัดสุทัศนเทพวรารามที่คงเหลือในปัจจุบัน มีลักษณะทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม โดยสังเขป ดังนี้
๑. สถาปัตยกรรมบริเวณพระวิหารหลวง
เขตพุทธาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของวัด มีบริเวณเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วยกลุ่มอาคารศาสนสถานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ บริเวณพระวิหารหลวง (ประกอบด้วยกลุ่มอาคารที่อยู่ภายในบริเวณพระระเบียงคด) บริเวณพระอุโบสถ (ประกอบด้วยองค์ประกอบที่อยู่ภายในบริเวณกำแพงแก้ว) และบริเวณโดยรอบเขตพุทธาวาส (ประกอบด้วยกลุ่มอาคารศาลารายและสัตตมหาสถาน ซึ่งอยู่นอกเหนือจาก 2 บริเวณแรก)
๑) พระวิหารหลวง เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด 5 ห้อง กว้าง 23.84 เมตร ยาว 26.25 เมตร โครงสร้างหลังคาเป็นจั่วมีหลังคาประธาน 1 ตับ มีชั้นซ้อน (หลังคามุข) ทางด้านหน้า และด้านหลังข้างละ 1 ชั้น และมีหลังคาปีกนกลาดลงจากหลังคาประธานข้างละ 3 ตับ หลังคามุขทางด้านหน้าและด้านหลังมีหลังคาปีกนกลาดลงข้างละ 2 ตับ มีเสารับมุขเป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน 12 ต้น ทั้งสองด้านรวม 24 ต้น และเสานางเรียงด้านข้าง ด้านละ 6 ต้น รวมทั้งหมดจึงเป็นเสา 36 ต้น เสานางเรียงและเสารับมุขหัวเสาเป็นปูนปั้นบัวแวงปิดทองประดับกระจกสี ชายคามีคันทวยรับเชิงชายหลังคาหัวเสาละ 1 ตัว ด้านละ 6 ตัว รวมทั้งหมด 4 ด้าน 24 ตัว แนวฝาผนังด้านนอกมีเสานางแนบด้านละ 6 ต้น มีบัวหัวเสาเช่นเดียวกับเสานางเรียง ฐานประทักษิณล้อมพระวิหาร 3 ชั้น คือ ชั้นบนสุดเริ่มจากฐานปัทม์ของพระวิหาร ถึงแนวเสานางเรียง เป็นที่ตั้งของพระวิหารทิศ 4 หลัง ฐานประทักษัณชั้นต่อมาเป็นที่ตั้งของถะจีนสร้างด้วยศิลารายรอบพระวิหารทั้ง 4 ด้าน จำนวน 28 ถะ ต่อลงมาเป็นลานประทักษิณชั้นล่างที่กว้างที่สุดไปจนถึงพระระเบียงคด ฐานประทักษิณแต่ละชั้นจะมีพนักกั้น มีช่องซุ้มสำหรับตามประทีปตลอดแนวพนักกั้นทุกชั้น ในเวลามีงานนักขัตฤกษ์หรือการเฉลิมฉลองตอนกลางคืนจะตามประทีปเทียนไฟตลอดแนวพนักกั้น
๒) พระวิหารทิศ ลักษณะเป็นศาลาหลังเล็กเปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน รูปทรงเช่นเดียวกับพระวิหารแต่ไม่มีมุขเด็จหน้าหลัง ตั้งอยู่บริเวณลานประทักษิณด้านบนสุดก่อนเข้าสู่ตัวพระวิหารหลวง ประดิษฐานอยู่มุมเฉียงทั้ง ๔ ทิศ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ
๓) พระระเบียงคด สร้างล้อมรอบพระวิหารหลวง ลักษณะเป็นอาคารทรงโรงก่อเป็นโถงยาววิ่งแล่นตลอด เปิดด้านโล่งสู่ลานประทักษิณชั้นล่างรอบพระวิหารหลวง ด้านนอกก่อเป็นกำแพงทึบตัน หลังคาทรงไทยโบราณ มีเฉลียงด้านใน 2 ลด ด้านนอก 1 ลด ห่าง จากกำแพงแก้วพระวิหารหลวง 13.70 เมตร ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้างด้านละ 89.60 เมตร ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาวด้านละ 98.87 เมตร ที่มุมพระระเบียงตัดกันเป็นผังรูปกากบาท ประกอบด้วยหน้าบัน 2 หน้า ช่อฟ้า 8 ตัว หางหงส์ 24 ตัว รวม 4 มุม หน้าบัน 8 หน้า ช่อฟ้า 32 ตัว หางหงส์ 96 ตัว ตรงกลางของพระระเบียงคดแต่ละด้านเป็นซุ้มประตูเข้าสู่พระวิหารหลวง แบ่งพื้นที่พระระเบียงออกเป็น 4 ส่วนลักษณะซุ้มประตูเป็นทรงจัตุรมุข มีหลังคาซ้อนกัน ประกอบด้วยหน้าบัน 2 หน้า ช่อฟ้า 8 ตัว หางหงส์ 24 ตัว รวม 4 ซุ้ม หน้าบัน 8 หน้า ช่อฟ้า 32 ตัว หางหงส์ 96 ตัว ระหว่างซุ้มประตูทำเป็นประติมากรรมเสาหินเครื่องศาสตราวุธศิลปะจีน ภายในพระระเบียงติดผนังที่ทึบตัน มีฐานก่อยกระดับขึ้นมาโดยรอบด้านล่างประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางสมาธิประทับนั่งบนบัลลังก์ฐานสิงห์ ตั้งเรียงรายอยู่รอบพระระเบียงคดจำนวน 156 องค์ ทุกองค์ประทับนั่งหันพระพักตร์เข้าหาตัวพระวิหารหลวง ยกเว้นบริเวณมุมทั้งสี่ด้านที่เป็นรูปกากบาท ทำเป็นคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยไว้ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยพระพุทธรูปปางสมาธิลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปโดยรอบพระระเบียงโดยรอบ เพียงแต่มีขนาดย่อมกว่า
๔) พระเจดีย์จีน (ถะจีน) ประดิษฐานรอบพระวิหารหลวง เป็นเจดีย์ศิลปะแบบจีนรายล้อมพระวิหารหลวง 28 องค์ เรียกว่า ถะรายพระวิหาร คำว่า “ถะ” เป็นเครื่องศิลาแบบจีนรูปแบบคล้ายอาคารหกเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไป 6 ชั้น แต่ละชั้นเป็นช่องโปร่งซึ่งเป็นลักษณะของเรือนไฟใช้ตามประทีป ถะรายพระวิหารมี 28 ถะ ตั้งอยู่บนพนักฐานพระวิหารชั้นที่ 2
๒. ประติมากรรมบริเวณพระวิหารหลวง
๑) พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยโลหะ หน้าตัก กว้าง 3 วา 1 คืบ สูง 4 วา ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ พระพักตร์รูปไข่เกือบกลม มีพระรัศมีเป็นเปลวสูงตั้งอยู่บนพระอุษณีษ์ เม็ดพระศกเล็กขมวดเป็น รูปก้นหอยเวียนตามทักษิณาวรรต ระหว่างพระขนงมีพระอุณาโลมคั่น ประดิษฐานบนฐานชุกชีทรงดอกบัวประดับด้วยกระจกสี นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ลักษณะพระศรีศากยมุนีที่ปรากฏในปัจจุบัน ได้รับการหล่อแก้ไขในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ด้วยทรงเห็นว่าพุทธลักษณะไม่ตรงตามคัมภีร์ (พระครูวิจิตรการโกศล (สงัด), 2516, น. 7) พระศรีศายกมุนีจึงเป็นพระพุทธรูปหล่อสมัยสุโขทัย แต่ได้รับการหล่อแก้ไขในสมัยรัตนโกสินทร์ (กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2545, น. 287)
๒) แผ่นศิลาจำหลักสมัยทวาราวดี แผ่นศิลาจำหลักนี้ สลักจากหินทรายติดประดับที่ฐานด้านหลังพระรัตนบัลลังก์ที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี เป็นภาพสลักนูนต่ำปิดทอง ขนาดสูง ๒.๔๐ เมตร กว้าง ๐.๙๕ เมตร อยู่ในกรอบลายใบเทศ ปิดทองประดับกระจกทั้ง ๔ ด้าน ภาพศิลาสลักแผ่นนี้นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของวัดชิ้นหนึ่งมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ ศิลปะสมัยทวารวดีสันนิษฐานว่า อาจย้ายมาจากจังหวัดนครปฐม การสลักแบ่งภาพพระพุทธประวัติเป็น ๒ ตอน คือปางยมกปาฏิหาริย์และปางเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภาพตอนล่างเป็นภาพพระพุทธประวัติ ปางยมกปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นภาพที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ตรงกลาง มีพระอินทร์และพระพรหม ยืนถือแส้อยู่ทั้งสองข้าง ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระพุทธเจ้า มีดอกบัวขนาดใหญ่รองรับดอกบัวนี้ประคองอยู่โดยพระยานาคซึ่งมีร่างกายเป็นมนุษย์ แต่มีเศียรเป็นนาค ๗ เคียรแผ่พังพานอยู่เบื้องหลัง พระยานาคนี้สมมติว่าอยู่ใต้บาดาลอันเป็นสถานที่รองรับก้านบัวซึ่งเป็นแกนของมนุษยโลก ใต้บัลลังก์ด้านหนึ่งของพระองค์มีบรรดาเจ้านาย ซึ่งเสด็จมาแสดงความชื่นชมในปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ และอีกด้านหนึ่งก็คือนักบวชที่พ่ายแพ้ นักบวชเหล่านี้ก็คือพวกดาบสเปลือยกายและดาบสเกล้าผมสูง ซึ่งไม่อาจจะต่อสู้กับอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ได้ เหนือนั้นขึ้นไปมีเหล่าเทวดากำลังประนมหัตถ์แสดงคารวะต่อพระพุทธองค์อยู่ด้วยความเคารพ เบื้องหลังบัลลังก์คือต้นมะม่วงที่เกิดจากปาฏิหาริย์ มีกิ่งก้านรองรับพระพุทธรูปปางต่างๆ พระพุทธรูปเหล่านี้แสดงปางด้วยพระหัตถ์ขวาหรือพระหัตถ์ซ้าย เพื่อให้ได้สัดส่วนกันเป็นคู่ๆ ภาพตอนบนขึ้นไปเป็นภาพพระพุทธประวัติ ปางเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นภาพที่พระพุทธเจ้ากำลังประทับบนบัลลังก์ในสวรรค์ มีพระอินทร์และพระพรหมยืนถือแส้อยู่ทั้งสองข้างเบื้องหลังทางด้านขวาของพระพุทธองค์ พระพุทธมารดากำลังประทับอยู่ ซึ่งช่างตั้งใจสลักให้มีลักษณะของสตรีเพศแตกต่างจากภาพอื่นอย่างชัดเจน แวดล้อมด้วยเทวดาองค์อื่นๆ จากสวรรค์ชั้นต่างๆ มาชุมนุมกัน เพื่อฟังพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแด่พระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่โดยรอบพุทธอาสน์
๓) พระพุทธรูปปางต่างๆ และพระปัญจวัคคีย์ในพระวิหารหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปประจำสัตตมหาสถานในโรงหล่อหลวงด้วยเนื้อทองแดงขัดเกลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๗ เสร็จแล้วจึงทรงให้แห่พระมาประดิษฐานประจำสัตตมหาสถาน ณ วัดสุทัศนเทพวราราม (หมายรับสั่งรัชกาลที่ 3 หอสมุดแห่งชาติ, สมุดไทยดำ, อักษรไทย, ภาษาไทย, เส้นขาว, จ.ศ. 1208, เลขที่ 8 อ้างถึงใน จิรศักดิ์ แต่งเจนกิจ, 2541, น. 20; พระครูวิจิตรการโกศล (สงัด), 2516, น. 16) ประอบด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องด้วยกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตอนทรงเสวยวิมุตติสุขตลอด ๗ สัปดาห์ รวม ๔๙ วัน คือ ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางทรงถวายเนตร ปางเสด็จจงกรม ปางทรงพิจารณาพระอภิธรรม ปางทรงห้ามธิดามาร ปางนาคปรก ปางทรงรับผลสมอ ต่อมาทางวัดกลัวว่าพระพุทธรูปเหล่านี้จะเป็นที่เพ่งเล็งของผู้ไม่หวังดี ด้วยเป็นพระพุทธรูปหล่อจากทางแดงขัดเกลี้ยง และเป็นงานช่างหลวง ถือเป็นโบราณวัตถุสำคัญของวัดและสมบัติของแผ่นดิน จึงได้ย้ายพระพุทธรูปเก่าเหล่านั้นมาประดิษฐานเก็บรักษาไว้ที่พระวิหารหลวง แล้วหล่อพระพุทธรูปขึ้นใหม่เพื่อประดิษฐานแทน ปัจจุบันปรากฏเพียง ๖ องค์ ขาดพระพุทธรูปปางสมาธิ และปางทรงห้ามธิดาพญามาร โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเดิมมีเพียงเท่านี้ หรือว่าหายไปด้วยสาเหตุใด ตั้งแต่เมื่อใด สันนิษฐานว่า ทางวัดพิจารณาเห็นว่า ตามข้อความที่ปรากฏในพุทธประวัติ ควรจะมีพระพุทธรูปครบ ๘ องค์ จึงได้หล่อเพิ่มขึ้นเพื่อให้เต็มตามจำนวน หรืออาจจะพิจารณาเห็นว่า พระพุทธรูป ๒ องค์ดังกล่าว ได้หายไปแล้ว จึงได้ย้ายพระพุทธรูปที่เหลือมาเก็บรักษาไว้ แล้วให้หล่อพระพุทธรูปใหม่ขึ้นประดิษฐานแทน นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ พระอัญญาโกณฑัญญเถระ พระวัปปเถระ พระภัททิยเถระ พระมหานามเถร และพระอัสสชิเถระ ซึ่งหล่อขึ้นในคราวเดียวกันกับพระพุทธรูปเหล่านั้น เดิมประดิษฐานอยู่ในบริเวณเดียวกันกับสัตตมหาสถาน โดยสมมติสถานที่อีกแห่งหนึ่งเป็นสถานที่แสดงพระปฐมเทศนา คือพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร มีพระพุทธรูปปางทรงแสดงพระปฐมเทศนา และรูปหล่อพระปัญจวัคคีย์ประดิษฐานอยู่ด้านหน้า ต่อมาจึงได้ย้ายรูปหล่อพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้นมาประดิษฐานเก็บรักษาไว้ภายในพระวิหารหลวง แล้วหล่อใหม่ขึ้นประดิษฐานแทนในบริเวณเดิม
๔) พระพุทธรูปในพระวิหารทิศ พระวิหารทิศใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ดังนี้ พระวิหารทิศด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร และปางไสยาสน์ พระวิหารทิศด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางตื่นบรรทม และปางประทานพร พระวิหารทิศด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสวยพระกระยาหารเช้า และปางห้ามสมุทร พระวิหารทิศด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางทรงจีวร และปางห้ามสมุทร สวมศิราภรณ์ทรงเทริด
๕) หน้าบันพระวิหารหลวง พระวิหารทิศและพระระเบียงคด หน้าบันพระวิหารหลวงมี 2 ชั้น คือหน้าบันประธาน เป็นไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกสีลายเครือเถาก้านแย่ง ฉากหลังเป็นก้านขดออกช่อเทพพนม ตรงกลางเป็นกรอบซุ้ม ภายในกรอบซุ้มมีรูปพระอินทร์ประทับอยู่ในเวชยันตรวิมานประดิษฐานอยู่เหนือกระพองช้างเอราวัณ หรือไอยราพต มีการแบ่งระดับการเน้นส่วนสำคัญของลวดลายเป็นสามระดับอยู่ภายในกรอบสามเหลี่ยม ส่วนหน้าบันมุขเด็จ มีรูปแบบคล้ายหน้าบันจั่วประธาน แต่ตรงกลางหน้าบันเป็นรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณในกรอบซุ้ม สาหร่ายรวงผึ้งเป็นลายเฟื้องอุบะ ปลายทำเป็นกนก 3 ตัว หน้าบันพระวิหารทิศ เป็นปูนปั้นลายดอกไม้และเครือเถา ส่วนหน้าบันด้านนอกและด้านในพระวิหารคด เป็นหน้าบันจำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกสี เป็นลายพระนารายณ์ทรงสุบรรณอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมคล้ายหน้าบันมุขเด็จพระวิหารหลวง ใต้ลายทำเป็นกระจังฐานพระ
๖) บานประตู และบานหน้าต่างพระวิหารหลวง บานประตูพระระเบียงคด ด้านหน้าและด้านหลังของพระวิหารหลวงมีประตูทางเข้าด้านละ 3 ช่อง ด้านข้างมีหน้าต่าง ด้านละ 5 ช่อง ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มบันแถลงที่ซ้อนกัน 2 ชั้น เป็นปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสี บานประตูเป็นไม้แผ่นเดียวตลอดทั้งแผ่นขนาดกว้าง 1.30 เมตร สูง 5.64 เมตร หนา 0.16 เมตร จำหลักลายต้นพฤกษาที่สลักลึกมีกิ่งก้านเกาะเกี่ยวซ้อนกันอย่างงดงามเป็นศิลปกรรมฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่ทรงกำหนดลักษณะลายแบบ วิธีแกะสลักและทรงเริ่มจำหลักด้วยพระองค์เอง แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างฝีมือแกะต่อ เป็นบานประตูที่งดงามหาที่เปรียบมิได้ น่าเสียดายที่ศิลปกรรมชิ้นนี้ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุไฟไหม้บางส่วนเมื่อวันที่ 13 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2502 และปัจจุบันได้ย้ายไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงกล่าวถึงความงดงามของบานประตูคู่นี้ไว้ว่า “…บานทวารวิหารพระศรีศากยมุนีเป็นลายสลักซับซ้อนกันหลายชั้น งามวิจิตรน่าพิศวงอย่างยิ่ง… ที่เรียกว่าแกะนั้นก็เป็นคำควร เพราะคว้านปรุซับซ้อนกันลงไปหลายชั้น ซึ่งจะใช้สิ่วอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยคมมีดมาก เมื่อได้ลายแกะอันงามมาเช่นนี้ เป็นเหตุเตือนพระราชหฤทัยให้ทรงแกะสู้ เพราะพระองค์ทรงชำนาญในการแกะยิ่งนัก…” (นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยา, อ้างถึงใน วรรณิภา ณ สงขลา เรียบเรียง, 2531, น. 23) บานประตูไม้แกะสลักทั้งหมด 6 ประตู คือ ด้านหน้าพระวิหาร 3 ประตู ด้านหลังพระวิหาร 3 ประตู ประตูกลางทางด้านหลังนี้เป็นบานประตูไม้ลายรดน้ำ รูปพันธุ์พฤกษา บานประตูนี้สร้างขึ้นใหม่แทนของเดิมที่ย้ายไปติดด้านหน้า บริเวณด้านข้างของผนังพระวิหารหลวง มีซุ้มหน้าต่างทรงเรือนแก้ว ด้านละ 5 ซุ้ม ลวดลายบานหน้าต่างเดิมเป็นลวดลายจำหลักรูปแก้วชิงดวงปิดทองประดับกระจกสี ได้รับการแก้ไขในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยทำเป็นลวดลายปูนน้ำมันปั้นปิดทองคำเปลวรูปต้นไม้ เขามอ และสัตว์ป่าปิดลายแก้วชิงดวง ส่วนบานประตูพระวิหารคด เป็นบานไม้ขนาดใหญ่ มีลายรดน้ำรูปเซี่ยวกาง (ทวารบาล) ยืนบนหลังกิเลน เชิงบานเป็นภาพสัตว์หิมพานต์ เช่น นรมฤค กินรี ราชสีห์ คชสีห์ นกหัสดี นกเทศ เหมราช ภาพหลังบานประตูเป็นภาพเขียนสีน้ำมันรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์
๗) ประติมากรรมรูปม้าสำริด ประติมากรรมรูปม้าประดับบริเวณมุมพระวิหารหลวง บริเวณลานประทักษิณชั้นที่ 2 และชั้นล่างของพระวิหารหลวง ประติมากรรมรูปม้าหล่อด้วยสำริด ตั้งประจำมุมละ 1 ตัว รวม 2 ชั้น 8 ตัว ม้าเหล่านี้หล่อเมื่อ พ.ศ. 2389 จำนวน 2 ตัว อีก 6 ตัว หล่อขึ้นในภายหลัง
๘) ศิลาเก๋งจีน (ไพชยนต์ปราสาท) เครื่องศิลาสลักรูปเก๋งจีน ประดับอยู่ที่ลานประทักษิณชั้นล่างด้านหน้าพระวิหารหลวง มีลักษณะเป็นปราสาทแบบจีน ตั้งอยู่บนตั่งขาสิงห์ ล้อมรอบด้วยตุ๊กตารูปสัตว์ ฉากหลังเป็นเขามอ เครื่องสลักศิลาชุดนี้ เดิมตั้งอยู่บนลานประทักษิณชั้นบนย้ายลงมาตั้งบนลานประทักษิณชั้นล่างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เพราะทรงเห็นว่าตั้งบดบังความงดงามของพระศรีศากยมุนี ในบริเวณเดียวกันยังมีเขาพระสุเมรุ และป่าหิมพานต์ตั้งอยู่บนลานประทักษิณพระวิหารหลวง
๙) ประติมากรรมหินแกะสลักประดับบริเวณพระวิหารหลวง บริเวณข้างประตูด้านในพระวิหารหลวงทั้ง ๔ ทิศ มีประติมากรรมอาวุธต่างๆ ประดิษฐานอยู่ ประติมากรรมเหล่านี้เป็นศิลปะจีนสลักจากหินทราย สันนิษฐานว่า นำเข้ามาพร้อมกับเครื่องอับเฉาอื่นๆ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ การนำศาสตาวุธเหล่านี้มาประดิษฐานไว้ที่ด้านข้างประตู น่าจะมีความหมายแทนเทพทวารบาล คำว่า “ทวารบาล” มาจากคำว่า “ทวาร” ที่แปลว่า “ประตู” และ “บาล” ซึ่งแปลว่า “รักษา ปกครอง” ทวารบาล จึงมีความหมายว่า “ผู้รักษาประตู” ซึ่งจากคำแปล ก่อให้เกิดการตีความต่อประติมากรรมประเภททวารบาลว่าคือ รูปของสัตว์ อสูร เทพ เทวดา และมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆก็ตาม ที่ตั้งอยู่บริเวณบานประตู ช่องทางผ่านเข้าออก ช่องหน้าต่าง หรือราวบันได ตามธรรมเนียมนิยมของประชาชนในแถบประเทศอินโดจีน โดยความเชื่อที่ว่า “ทวารบาล” เป็นด่านหน้าสุดของอาคาร บ้านเรือน ที่จะต้อนรับขับสู้ ทั้งแขกผู้มาเยือนและมิใช่แขก ทวารบาลเป็นประตูธรรมดาทั่วๆ ไปหรืออาจเป็นมากกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ที่เป็นเจ้าของว่ามีฐานันดรศักดิ์เป็นเช่นไร แต่โดยมากแล้วทวารบาลนิยมกันในศาสนสถานและพระราชวังเท่านั้น ทวารบาลมีคติที่ว่า เป็นผู้ปกปักรักษาคุ้มครอง ที่ด้านข้างด้านในประตูพระวิหารหลวงทั้ง ๔ ด้าน ปรากฏเป็นอาวุธ ๔ คู่ ๘ ชิ้นคือ ง้าว ๑ คู่ ที่ประตูด้านทิศเหนือ ค้อน ๑ คู่ ที่ประตูด้านทิศตะวันออก ทวน ๑ คู่ ที่ประตูทิศใต้ และขวานศึก ๑ คู่ ที่ประตูด้านทิศตะวันตก ศาตราวุธเหล่านี้ปรากฏอยู่ใน ๑๘ ศาสตราวุธโบราณของจีน คือ ๙ อาวุธยาว ได้แก่ ทวน ทวนวงเดือน พลอง ขวานศึก สามง่าม คราดหัวง่าม ตะขอ หอก ง้าว และ ๙ อาวุธสั้น ได้แก่ ดาบ กระบี่ ไม้เท้า ขวาน แส้เหล็ก เหล็กท่อน ค้อน กระบองสั้น สาก โดยศาสตราวุธ ๔ ชนิดที่เลือกมาประดิษฐานที่พระวิหารนั้น นับว่าเป็นอาวุธที่สำคัญ
๑๐) ภูเขาสิเนรุจำลอง (เขามอ) ชั้นล่างด้านหลังไพชยนต์ปราสาท เป็นภูเขาที่สลักจากศิลาจีน มีรูปฤๅษีและสัตว์ที่สลักศิลาเช่นกัน ประกอบอยู่โดยรอบ สมมุติเป็นเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์จักรวาล เขาลูกนี้เดิมเป็นฉากสำหรับแสดงโขนกลางแปลงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ถวายแก่พระอารามแห่งนี้เพื่อเทียบให้เห็นคติแห่งจักรวาลของพระวิหารหลวง
๑๑) พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ประดิษฐานบริเวณลานประทักษิณชั้นล่าง มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระวิหารหลวง พระบรมรูปหล่อด้วยสำริด ประทับยืน ขนาดเท่าพระองค์จริง ด้วยวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ 8 เพราะทรงมีความเกี่ยวข้องกับวัด คือ เมื่อคราวเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก ได้เสด็จมาที่พระอารามนี้และทรงพระราชปรารภว่า สถานที่วัดสุทัศน์ฯ ร่มเย็นน่าอยู่ และเมื่อทรงประกอบพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ติสสเทวมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นพุทธมามกจารย์และถวายพระโอวาท เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงเป็นพระบรมอนุชาธิราช ทรงพระอนุสรณ์ถึงสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบรมเชษฐาธิราชเจ้าไว้ ณ ผ้าทิพย์ เบื้องหน้าฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี (พระประธานในพระวิหารหลวง) และทรงให้หล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐานถวายไว้ ณ บริเวณพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามนี้
๓. จิตรกรรมบริเวณพระวิหารหลวง
งานจิตรกรรมของวัดสุทัศนเทพวราราม บางส่วนได้รับการเขียนขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แต่จิตรกรรมโดยส่วนมากได้รับการวาดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และได้รับการบูรณะซ่อมแซมในรัชกาลต่อๆ มา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ่อมแซมใหญ่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ดังที่ คงเดช ประภาทอง กล่าวว่า “จิตรกรรมวัดสุทัศน์ฯ แสดงถึงอิทธิพลของตะวันตกอย่างมากและชัดเจน ภาพวาดบางภาพคงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2352 – 2367) แต่ส่วนใหญ่น่าจะเกิดขึ้นตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367 – 2394) มากกว่าตอนต้นรัชสมัย” (กุลพันธาดา จันทร์โพธิ์ศรี และคณะ กองบรรณาธิการ, 2528, น. 89) และ นักวิชาการอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า “ภาพเขียนที่ในวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม เข้าใจว่าเริ่มเขียนในสมัยรัชกาลที่ 2 ว่ากันโดยลักษณะของภาพแลวิธีการเขียนอาจเสร็จลงในรัชกาลที่ 3 ก็ได้ สำหรับที่โบสถ์นั้นเขียนในรัชกาลที่ 3 แน่นอน เพราะลักษณะการเขียนและฝีมือความคิดต่างกันไกล ที่วิหาร คติ ความคิด ทั้งวิธีการเขียนแตกต่างกันไกลกับที่โบสถ์เขียนกันคนละรุ่น” (เฟื้อ หริพิทักษ์ และ อนันต์ วิริยะพินิจ, 2531, น. 42) ดังนั้น จึงเป็นอันสรุปได้ว่า งานจิตรกรรมวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นฝีมือของช่างหลายยุคและหลายคนหลายรุ่น จึงมีระดับฝีมือช่างไม่เท่าเทียมกัน ภาพจิตรกรรมทั้งหมดถูกวาดลงบนผนังพระอุโบสถและพระวิหารหลวง รวมถึงศาสนสถานในบริเวณเขตพุทธาวาส โดยมีรายละเอียดของเนื้อหา ดังนี้
งานจิตรกรรมภายในพระวิหารหลวง เป็นงานจิตรกรรมที่มุ่งส่งเสริมความหมายของสถานที่ หรือมุ่งส่งเสริมความหมายของงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะลำพังงานด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรม ไม่อาจสื่อความหมายมากมาย หรือชัดเจนนัก เพราะเป็นงานใหญ่ แต่ใส่รายละเอียดได้น้อยกว่างานจิตรกรรม รวมทั้งไม่อาจเขียนคำอธิบายในงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมด้วยเหตุนี้ งานจิตรกรรมจึงมีส่วนเข้าไปเติมเต็มความบกพร่องส่วนนี้ เพื่อให้สถาปัตยกรรมและประติมากรรมสามารถสื่อความหมายตามที่ผู้สร้างสรรค์งานปรารถนาอย่างแท้จริง และสมบูรณ์มากขึ้น งานจิตรกรรมในพระวิหารหลวง บริเวณคอสองและเสาในประธาน เป็นการแสดงแนวคิดความเชื่อเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐาน แสดงบริเวณนับแต่เขาพระสุเมรุลงมาจนถึงอบายภูมิ 4 ตามหลักทางภูมิศาสตร์ของจักรวาลตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งมีปรากฏในวรรณกรรมเรื่องไตรภูมิกถา พระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ภาพจิตรกรรมส่วนนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ โลกสวรรค์ (เฉพาะสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกาและดาวดึงส์) โลกมนุษย์ และโลกของอบายภูมิ 4 การแสดงรายละเอียดของสถานที่ทั้ง 3 ส่วน ผู้เขียนได้ใส่รายละเอียดบางส่วนแทนสถานที่เหล่านั้น เพราะข้อจำกัดของพื้นที่ในการเขียน จึงไม่อาจใส่ข้อมูลได้ทั้งหมด
รายละเอียดของงานจิตรกรรมทั้ง 3 ส่วน มีปรากฏดังนี้ คือ โลกสวรรค์มีรายละเอียดเกี่ยวกับวิมานของพระอินทร์และสถานที่สำคัญบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รวมถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วย เหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ อสูรยกทัพขึ้นไปรบกับท้าวจาตุมมหาราช หลังจากนั้นจึงยกพลขึ้นไปรบกับพระอินทร์ เป็นต้น อันเป็นการกล่าวถึงรายละเอียดของสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา ในฐานะเป็นสถานที่อยู่ของท้าวจาตุมมหาราชผู้พิทักษ์เขาพระสุเมรุรวมเข้าไปด้วย ส่วนโลกมนุษย์และโลกอบายภูมิ 4 มีเนื้อหาที่ค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้เลือกเหตุการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เคยมีปรากฏในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น ชาดก นิทาน วรรณกรรมพื้นบ้าน มาเป็นเครื่องหมายให้รู้ถึงสถานที่เหล่านั้นตามหลักทางภูมิศาสตร์ โดยไม่ให้เสียความหมายทางด้านภูมิศาสตร์
ประเด็นที่สำคัญคือ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ผู้เขียนหรือผู้ควบคุมการเขียนภาพมีหลักการอย่างไรหรือมีความมุ่งหมายอย่างไรในการเลือกเรื่องที่จะนำมาเขียน และโดยความเชื่อที่ว่าผู้เขียนภาพนั้นมีความเข้าใจหรือมีแรงบันดาลใจจากไตรภูมิกถา และไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา โดยเฉพาะในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถานั้น เป็น สถานที่รวมเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาต่างๆ มารวมไว้เพื่อแสดงภูมิทั้ง 3 และแสดงถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับภูมิเหล่านั้น เรื่องราวที่ปรากฏในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถาอันแสดงถึงความเกี่ยวข้องกับสถานที่ตามหลักภูมิศาสตร์ที่ผู้เขียนต้องการแสดงมีหลายด้านมีหลายเรื่อง และแต่ละเรื่องก็มีความมุ่งหมายต่างกัน หากเพียงแค่เลือกเรื่องใดก็ได้ โดยไม่มีความมุ่งหมายอื่นแอบแฝงไว้ เพียงแค่ทำให้ความหมายตามหลักทางภูมิศาสตร์บริบูรณ์เท่านั้น ผู้วาดคงไม่ต้องคัดเรื่องที่เด่นที่สุด ซึ่งบางเรื่องเป็นเรื่องที่มีที่มาจากคัมภีร์ชั้นหลัง หรือเป็นเพียงเรื่องเล่า เช่น เรื่องสุธนชาดก จากปัญญาสชาดก เป็นชาดกเรื่องเดียวที่นำมาจากปัญญาสชาดก เพื่อแสดงถึงสถานที่คือเขาไกรลาสตามหลักทางภูมิศาสตร์ ถ้าเพียงแค่ต้องการสื่อถึงสถานที่คือเขาไกรลาสเท่านั้น ผู้เขียนอาจจะใช้เรื่องอื่นที่เป็นเรื่องมาในคัมภีร์พระไตรปิฎกก็ได้ เพราะเรื่องชาดกในพระไตรปิฎกอันเป็นที่มาของข้อมูลหลักก็มีเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับเขาไกรลาสด้วยเช่นกัน
อนึ่ง โลกสัณฐานตอนว่าด้วยเรื่องพระอาทิตย์และว่าด้วยเรื่องพระจันทร์ ก็ไม่ปรากฏเหมือนงานจิตรกรรมที่เคยมีมาแล้ว งานจิตรกรรมก่อนหน้านั้น ถ้าจะวาดจิตรกรรมที่สื่อถึงรูปพระอาทิตย์และพระจันทร์ จะวาดรูปพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นเทพบุตรนั่งบนราชรถ มีราชสีห์เทียมรถสำหรับพระอาทิตย์และมีม้าสินธพเทียมรถสำหรับพระจันทร์ หรือวาดรูปวงกลมสีแดงมีรูปนกยูงอยู่ภายในแทนรูปพระอาทิตย์ และวาดรูป วงกลมสีขาวมีรูปกระต่ายอยู่ภายในแทนพระจันทร์ (เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว, 2548, 87 – 89) แต่ในงานจิตรกรรมของวัดสุทัศนเทพวราราม ผู้เขียนได้วาดรูปชวนหงส์บินแข่งพระอาทิตย์ อันเป็นเรื่องที่มีปรากฏในชวนหังสชาดก แทนรูปพระอาทิตย์ และวาดรูปอสุรินทราหูจับพระจันทร์ อันเป็นเรื่องที่มีปรากฏในไตรภูมิกถา แทนรูปพระจันทร์ จึงน่าจะเชื่อได้ว่านอกเหนือจากการอธิบายสถานที่ตามหลักไตรภูมิ ผู้วาดต้องมีจุดมุ่งหมายอื่นแอบแฝงแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ต่อไป
จากการนำแนวคิดเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐานมาเป็นแนวคิด หลักในการเขียนงานจิตรกรรมภายในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม ผู้เขียนหรือผู้ควบคุมการเขียนควรต้องเป็นผู้มีความชำนาญเชี่ยวชาญในวรรณกรรมเรื่องไตรภูมิกถาเป็นอย่างดี หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรต้องเคยศึกษาถึงแนวคิดหรือเนื้อหาที่อยู่ในวรรณกรรมดังกล่าว ภายใต้เงื่อนไขของการแบ่งจิตรกรรมเป็น 3 ส่วน คือโลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และโลกอบายภูมิ 4 เนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวกับโลกมนุษย์มีเนื้อหามากที่สุด โดยเน้นเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราชมากที่สุด มีเนื้อหาเกินครึ่งหนึ่งของเนื้อหาโลกมนุษย์ สืบเนื่องจากพระมหากษัตริย์ เป็นผู้สร้างวัดสุทัศนเทพวราราม และทรงเป็นผู้ดูแลการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมในทุกด้าน งานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นนอกเหนือจากเหตุผลหลักด้านอื่นๆ ยังเป็นการแสดงศิลปกรรมแก่ประชาชนผู้เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ด้วย ดังนั้น พระมหากษัตริย์ผู้สร้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงน่าจะทรงเอาอย่างพระเจ้าจักรพรรดิราชในไตรภูมิกถาในเรื่องของการสั่งสมบุญบารมี และการสั่งสอนประชาชนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วย ดังปรากฏเรื่องทำนองนี้ในงานศิลปกรรมในวัดต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการให้ความรู้ การสั่งสอนประชาชน และการให้แนวคิดในการครองชีวิต เช่น จารึกตำราในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
จิตรกรรมบริเวณพระวิหารหลวงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ บริเวณผนังอาคารพระวิหารหลวง บริเวณต้นเสาและคอสองในประธานในพระวิหารหลวง และจิตรกรรมอื่นๆ การแบ่งงานจิตรกรรมออกเป็น 3 ส่วนนี้ แบ่งตามลักษณะเนื้อหาของจิตรกรรมเป็นหลัก เพราะแต่ละส่วนจะมีเนื้อหาที่แตกต่างกันในภาคย่อย แต่สัมพันธ์กันในภาครวม ดังนี้
๑) จิตรกรรมฝาผนังพระวิหารหลวง (พระอตีตพุทธประวัติ) ผนังอาคารพระวิหารหลวงวาดเรื่องราวพระประวัติของพระพุทธเจ้าที่เคยเสด็จมาตรัสรู้แล้ว 27 พระองค์ โดยวาดที่ฝาผนังตั้งแต่แนวเส้นลวดใต้ขอบหน้าต่างขึ้นไปจนจรดฝ้าเพดานปีกนก เป็นภาพเขียนเรื่องต่อเนื่องกันเต็มผนังทุกด้าน แต่สามารถแยกพระประวัติของแต่ละพระองค์ได้จากการสังเกตลักษณะของกลุ่มอาคารและมีเส้นลำน้ำกั้นระหว่างภาพพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ และในที่เชิงผนัง มีแผ่นศิลาจารึกพรรณนาพระประวัติของพระพุทธเจ้ากำกับไว้ทุกตอน ลักษณะการวาดภาพนั้นจะวาดภาพพระพุทธเจ้าเป็นประธานของภาพ โดยวาดไว้ตรงกลางและแสดงให้ดูเด่นที่สุด ส่วนภาพประกอบอื่นจะมีขนาดรองลงไป และ แสดงกิริยาอาการอยู่รายล้อมรูปประธาน
การวาดภาพพระประวัติพระอดีตพุทธเจ้าจำนวน 27 พระองค์นี้ ผู้เขียนคงมุ่งวาดพระอดีตพุทธเจ้าที่มีพระประวัติเกี่ยวเนื่องด้านใดด้านหนึ่งกับพระพุทธเจ้าศากยมุนี พระองค์ปัจจุบันโดยนับย้อนหลัง 4 อสงไขย แสนกัป เริ่มแต่พระโพธิสัตว์ (พระศากยมุนีพุทธเจ้า) ทรงได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เหตุการณ์เกิดขึ้นในพุทธสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 4 ในจำนวน 27 พระองค์แต่ที่นับเป็น 27 พระองค์โดยไม่เริ่มวาดแต่พระทีปังกรพุทธเจ้า เพราะนับถอยไปถึงพระพุทธเจ้าในกัปนั้นทั้งหมด รวมทั้งพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนนั้นก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการบำเพ็ญกุศลของพระโพธิสัตว์ (พระศากยมุนีพุทธเจ้า) ด้วยเพียงแต่ยังไม่ได้รับพุทธพยากรณ์ จนกระทั่งถึงพุทธสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้า จึงทรงได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ลักษณะการจัดระเบียบภาพวาดนั้น ใช้ลักษณะการเวียนรอบพระประธานพระวิหารหลวงโดยทักษิณาวรรต คือ เริ่มพระประวัติพระอดีตพุทธเจ้าพระองค์ที่ 1 – 6 ที่ผนังอาคารด้านหน้าพระประธานพระองค์ที่ 7 – 14 ที่ผนังด้านขวามือของพระประธาน พระองค์ที่ 15 – 20 ที่ผนังด้านหลังพระประธาน และพระองค์ที่ 21 – 27 ที่ผนังด้านซ้ายมือของพระประธาน นอกจากนี้หากพิจารณาในรายละเอียดของผนังแต่ละด้านแล้ว ยังมีลักษณะของการเวียนแบบทักษิณาวรรตอีกด้วย โดยเฉพาะผนังด้านหน้าและด้านหลังพระประธานมีการจัดระเบียบการวาดเป็นพิเศษ ดูเหมือนช่างภาพประสงค์จะเน้นให้เห็นความพิเศษของพระอดีตพุทธเจ้าพระองค์ที่ 4 และพระองค์ที่ 18 จึงได้เจาะจงที่จะวาดไว้ตรงกลางผนังพอดี ความพิเศษของพระองค์ที่ 4 คือ เหตุการณ์ที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบสและได้ปรารถนาพระโพธิญาณเป็นครั้งแรก ส่วนพระองค์ที่ 18 คือพระศากยมุนีพุทธเจ้าทรงเสวยพระชาติเป็นพระอินทร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับความสำคัญของศาสนสถานที่สมมติให้เป็นสุทัสสนนคร นครหลวงบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พอดี
รายพระนามพระอดีตพุทธเจ้าจำนวน 27 พระองค์ และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระศากยมุนีพุทธเจ้า
ที่ | พระนามพระอดีตพุทธเจ้า | การบำเพ็ญพระบารมีและได้รับการพยากรณ์ของพระศากยมุนีพุทธเจ้า |
1 | พระตัณหังกรพุทธเจ้า | พญาสุทัศนจักรพรรดิสร้างมณฑปแก้ว 7 ประการ พระวิหาร และเสนาสนะ ถวายพระพุทธเจ้า แล้วเสด็จออกบวชในพระศาสนา |
2 | พระเมธังกรพุทธเจ้า | โสรมนัศพราหมณ์ สร้างมณฑปแก้ว 7 ประการ พระวิหาร และเสนาสนะ ถวายพระพุทธเจ้า แล้วเสด็จออกบวชในพระศาสนา |
3 | พระสรณังกรพุทธเจ้า | ยศวาพราหมณ์ สร้างมณฑปแก้ว 7 ประการ พระวิหาร และเสนาสนะ ถวายพระพุทธเจ้า แล้วเสด็จออกบวชในพระศาสนา |
4 | พระทีปังกรพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าสุเมธดาบสจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
5 | พระโกณฑัญญพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าพญาวิชิตาวีบรมจักรพรรดิจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
6 | พระมังคลพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าสุรุจิพราหมณ์จะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
7 | พระสุมนพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าพญาอตุลนาคราชจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
8 | พระเรวตพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าอติเทวพราหมณ์จะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
9 | พระโสภิตพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าสุชาติพราหมณ์จะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
10 | พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่ายักษเสนาบดีจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
11 | พระปทุมพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าพญาไกรสรราชสีห์จะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
12 | พระนารทพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าวสิยดาบสจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
13 | พระปทุมุตรพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่ารัฏฐิกชฏิลจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
14 | พระสุเมธพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าอุตตรมานพจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
15 | พระสุชาตพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าพญาจาตุทิปกบรมจักรจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
16 | พระปัยทัสสีพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่ากัสสปพราหมณ์จะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
17 | พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าสุสิมะชฎิลจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
18 | พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าพระอินทร์จะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
19 | พระสิทธัตถพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่ามงคลดาบสจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
20 | พระติสสพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าสุชาตดาบสจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
21 | พระปุสสพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าพญาวิชิตะจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
22 | พระวิปัสสีพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าอตุลนาคราชจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
23 | พระสิขีพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าอรินทมมหาราชจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
24 | พระเวสสภูพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าสุทัศนราชจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
25 | พระกกุสันธพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าจ้าวเขมราชจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
26 | พระโกนาคมนพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าพญาบรรพตราชจะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
27 | พระกัสสปพุทธเจ้า | ทรงพยากรณ์ว่าโชติบาลพราหมณ์จะได้เป็นพระโคดมพุทธเจ้า |
๒) จิตรกรรมบริเวณต้นเสาและคอสองในประธานในพระวิหารหลวง (ไตรภูมิโลกสัณฐาน) จิตรกรรมบนต้นเสาในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม เขียนแต่เชิงเสาเหนือพื้นพระวิหารหลวงประมาณ 1 เมตร ไปจนจรดเพดาน เขียนเต็มพื้นที่ต้นเสาทั้ง 4 ด้าน จำนวน 8 ต้น จิตรกรรมบนผนังของต้นเสาแต่ละต้น เขียนเล่าเรื่องราวโลกสัณฐาน แสดงลักษณะและองค์ประกอบทางกายภาพของจักรวาลตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนาเถรวาท สวนยอดของต้นเสาแต่ละต้น แสดงองค์ประกอบของเขาพระสุเมรุและเขาบริวาร ส่วนเชิงเสาของเสาแต่ละต้นแสดงองค์ประกอบของจักรวาลส่วนต่างๆ ซึ่งมีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์อยู่ใต้แกนเขาพระสุเมรุ และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสถานที่เหล่านั้น รวมทั้งชาดกเรื่องต่างๆ ซึ่งคัดมาจากชาดกในนิบาตบ้าง นอกนิบาตบ้างปะปนกันไป นอกจากนี้ยังมีนิทานพื้นบ้าน วรรณกรรม เรื่องเล่าอื่นๆ แทรกเข้ามาด้วย วรรณิภา ณ สงขลา (2534, น. 42 – 44) กล่าวไว้ มีจำนวน 22 เรื่อง แต่จากการค้นคว้า เพิ่มเติมจากศิลาจารึกพบว่า มีชาดกบางเรื่องที่ไมได้กล่าวถึงนอกเหนือจาก 22 เรื่องนั้น ซึ่งมีจำนวนเพิ่มเข้ามาอีก 8 เรื่อง รวมเป็นชาดกทั้งหมด 30 เรื่อง
รายชื่อชาดกที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมบริเวณต้นเสา
ภายในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม
ที่ | เรื่อง | ที่มา |
1 | กุลาวกชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต |
2 | ทธิวาหนชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ทุกนิบาต |
3 | กากชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต |
4 | สุปารกชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก เอกาทสนิบาต |
5 | กุณาลชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก อสีตินิบาต |
6 | สังขพราหมณ์ชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ทสกนิบาต |
7 | มหาชนกชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต |
8 | มิตตวินทุกชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ปัญจกนิบาต |
9 | ทัพพปุบผชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก สัตตกนิบาต |
10 | กุมภิลชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ทุกนิบาต |
11 | คุณชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ทุกนิบาต |
12 | ฆตบัณฑิตชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ทสกนิบาต |
13 | ลฑุกิกชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ปญจกนิบาต |
14 | อุลุกชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ติกนิบาต |
15 | มิตตวินทุกชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต |
16 | สุธนชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ปัญญาสชาดก |
17 | สมุททวาณิชชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ทวาทสนิบาต |
18 | กากาติชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก จตุกกนิบาต |
19 | สุสันธีชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ปัญจกนิบาต |
20 | นฬปานกชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต |
21 | เทวธรรมชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต |
22 | กักกฏชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ติกนิบาต |
23 | มุสิกชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต |
24 | มันธาตุราชชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ติกนิบาต |
25 | วัฑฒกิสูกรชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ติกนิบาต |
26 | สัพพทาฐชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ทุกนิบาต |
27 | ชวนหังสชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก เตรสนิบาต |
28 | ตัจฉกสูกรชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก ปกิณณกนิบาต |
29 | วานรินทชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต |
30 | วานรชาดก | ขุททกนิกาย ชาดก จตุกกนิบาต |
จิตรกรรมบริเวณคอสองในประธานในพระวิหารหลวง แต่ละด้านเขียนเป็นรูปวิมานของเทวดาตามด้านยาวของผนังในลักษณะอากาสัฏฐวิมาน ด้านละ 14 หลัง รวม 2 ด้าน จำนวน 28 หลัง พื้นที่บริเวณตรงกลางคอสองด้านทิศตะวันออกเขียนเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สวนพื้นที่บริเวณเดียวกันด้านทิศตะวันตก เขียนเป็นภาพพระจุฬามณีเจดีย์ซึ่งประดิษฐานบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๓) จิตรกรรมประดับเหนือกรอบบานประตูและหน้าต่างพระวิหารหลวง (สัตว์หิมพานต์) จิตรกรรมที่พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามนอกจากที่เขียนตามผนังอาคาร ต้นเสา และคอสองในประธานแล้ว ยังมีภาพจิตรกรรมอื่นๆ อีกด้วย คือ ภาพที่หลังบานหน้าต่าง หลังบานประตู ที่บานแผละประตูและหน้าต่าง ภาพประดับเหนือกรอบประตูและหน้าต่าง รวมถึงภาพเขียนบริเวณผนังพระระเบียงคด
ภาพที่หลังบานประตูมีจำนวน 5 บาน คือ ด้านหน้า 3 บาน ด้านหลัง 2 บาน (ส่วนบานประตูกลางด้านหลัง เขียนลายดอกไม้ เป็นภาพใหม่) เป็นภาพเทวดาทรงเครื่องศาสตราต่างๆ นักวิชาการสันนิษฐานว่า เป็นภาพเขียนสมัยรัชกาลที่ 2 (วรรณิภา ณ สงขลา เรียบเรียง, 2531, น. 49) ส่วนภาพที่หลังบานหน้าต่าง เป็นภาพเทพทวารบาล เป็นภาพเขียนสีฝุ่น เขียนเป็นรูปเทพต่างๆ จำนวน 20 องค์
รายนามเทพทวารบาลพร้อมด้วยพาหนะทรง
ภาพจิตรกรรมด้านหลังบานหน้าต่าง ภายในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม
ด้านทิศตะวันออก | ด้านทิศตะวันตก | |||
ที่ | ชื่อเทพทวารบาล | พาหนะ | ชื่อเทพทวารบาล | พาหนะ |
1 | พระอาทิตย์ | ราชสีห์ | พระอินทร์ | ช้างเอราวัณ |
2 | พระจันทร์ | ม้า | พระอัคนี | แรด |
3 | พระอังคาร | กระบือ | พระนารายณ์ | ครุฑ |
4 | พระพุธ | ช้าง | พระยม | โค |
5 | พระพฤหัสบดี | กวาง | พระวรุณ | นาค |
6 | พระศุกร์ | โค | พระกุเวร | ม้า |
7 | พระเสาร์ | เสือ | พระธตรฐ | ม้า |
8 | พระราหู | ครุฑ | พระอิศวร | โค |
9 | พระเกตุ | มนุษย์ | พระกาฬ | นกฮูก |
10 | พระจักรี | ยักษ์ | พระอิศวร | ปลากราย |
จิตรกรรมที่บานแผละประตู และหน้าต่าง เป็นภาพการตั้งเครื่องบูชาอย่างจีน ซึ่งมีลักษณะต่างๆ กัน ปัจจุบันชำรุดแล้วเป็นส่วนมาก ภาพประดับเหนือกรอบประตูและหน้าต่าง เป็นภาพสัตว์หิมพานต์เขียนด้วยสีฝุ่นบนผ้า แล้วใส่กรอบประดับไว้เหนือบานประตูและหน้าต่างด้านในช่องละ 3 ภาพ ช่องกลางมีขนาดสูงกว่าด้านข้างเล็กน้อย เหนือช่องประตูจำนวน 6 ช่อง เหนือช่องหน้าต่างจำนวน 10 ช่อง รวมมีภาพ 48 ภาพ แต่สูญหายไปแล้ว 2 ภาพ ปัจจุบันเหลือเพียง 46 ภาพ
รายชื่อภาพสัตว์หิมพานต์ในกรอบเหนือบานประตูและหน้าต่างพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม
รายละเอียดใน อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ อ้างถึงใน “การศึกษาการออกแบบและคติสัญลักษณ์ในกรณีของงานสถาปัตยกรรม วัดสุทัศนเทพวราราม” โดย จิรศักดิ์ แต่งเจนกิจ, 2541, น. 86.
เหนือกรอบประตูด้านทิศเหนือ (ด้านหน้าพระวิหารหลวง) | ||||||
ไกรสรราชสีห์ | ทักทอ | ไกรสรจำแลง | ||||
เกสรสิงหะ | สินธพนัทธีและวารีกุญชร | บัณฑุราชสีห์ | ||||
สางแปลง | คชสีห์ | โลโต | ||||
เหนือกรอบประตูด้านทิศใต้ (ด้านหลังพระวิหารหลวง) | ||||||
สิงโตจีน | ม้าวลาหก | กาฬราชสีห์ | ||||
ติณราชสีห์ | (สูญหาย) | งายใส | ||||
กิหมี | (สูญหาย) | กิเลนจีน | ||||
เหนือกรอบหน้าต่างด้านทิศตะวันออก | ||||||
นกหัสดี | นกเทษ | สิงหพานร | กินนร | อสูรวายุภักษ์ | ||
โตเทพอัสดร | เหมราช | กิเลนปีก | กิเลน | ไกรสรนาคา | ||
พยัคฆปักษา | นกอินทรี | มยุรคนธรรพ์ | นรสิงห์ | มารีส | ||
เหนือกรอบหน้าต่างด้านทิศตะวันตก | ||||||
สกุณเหรา | กระบิลปักษา | นกทัณฑิมา | ครุฑจับนาค | หงส์ | ||
มังกรวิหก | โตเทพสิงฆนัส | สิงห์ | สกุณไกรสร | โลโต | ||
สินธุปักษา | มัจฉานุ | นกการวิก | สุบัณเหราจับนาค | นาคปักษิณ |